สำนักงานพาณิชย์จังหวัดหนองคาย
ศูนย์ราชการจังหวัดหนองคาย ตำบลหนองกอมเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย 43000
โทรศัพท์ : 042-411-561 Email : nk_ops@moc.go.th
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จับมือ ส.อ.ท. เดินหน้าเสริมแกร่งให้กับ SMEs เตรียมผนึกกำลังจัดงานมหกรรมรวมพลัง SMEs ไทย ส่งเสริมให้เข้าใจระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และผลักดันเข้าสู่ช่องทางออนไลน์
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมได้นำคณะผู้บริหารของกรม เข้าพบนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และผู้บริหารของ ส.อ.ท. โดยทั้ง 2 หน่วยงาน จะร่วมมือกันในการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ให้มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น และสามารถแข่งขันได้มากขึ้น ผ่านกิจกรรมความร่วมมือที่มีอยู่ในทุกช่องทาง ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ทันที
สำหรับกิจกรรมความร่วมมือ ได้แก่ 1.การจัดงานมหกรรมรวมพลัง SMEs ไทย ที่กรมจะเป็นเจ้าภาพ โดย ส.อ.ท. จะเข้าร่วมจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริม SMEs ซึ่งรวมถึงการออกบูธและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานให้สมาชิกของ ส.อ.ท. ได้เข้าร่วม โดยสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) จะช่วยเป็นผู้ประสานงาน
2. ส่งเสริมให้ SMEs เข้าใจระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยกรมจะทำงานร่วมกับกรมบัญชีกลางเน้นเรื่องการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หลักเกณฑ์การเข้าระบบ THAI SME-GP ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับเมื่อสมัครเข้าสู่ระบบ
3. ช่วยผลักดันผู้ประกอบการ SMEs สู่ช่องทางออนไลน์และปรับตัวเข้ากับกระแสยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (SMEs Go Digital) ตลอดจนปรับตัวให้เข้ากับกระแสการค้าโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และ SMEs จะหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องเตรียมรับมือ อาทิ มาตรการของคู่ค้าที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ความร่วมมือดังกล่าว เป็นการเร่งดำเนินการตามนโยบายของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการหาทางเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้กับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าหมายว่าจะขับเคลื่อน SMEs ของประเทศไทยให้เติบโตและมีสัดส่วนใน GDP เพิ่มขึ้นเป็น 40% ภายในปี 2570 โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า SMEs จะเติบโต มีรายได้เพิ่มขึ้นจากปี 2566 มูลค่า 6.3 ล้านล้านบาท (35.2% ของ GDP) เป็น 6.6 ล้านล้านบาท (36% ของ GDP) ในปี 2567